ผู้มีลิขสิทธิ์คือใครบ้าง?

     ตามหลักทั่วไปแล้ว ผู้มีลิขสิทธิ์ คือ ผู้สร้างสรรค์ หรือผู้ที่ได้ใช้แนวคิดสร้างสรรค์งานนั้นขึ้นมาเอง แต่อาจมีอยู่บางกรณีที่ผู้สร้างสรรค์ผลงานอาจละเมิดลิขสิทธิ์ในงานของตนเองได้ เช่น การออกแบบ ภาพวาดที่ขายให้คนอื่นแล้วทำซ้ำขึ้นอีกเพื่อเอาไปขายให้คนอื่นอีก หรืออาจเป็นเพราะ ผู้มีลิขสิทธิ์อาจจะไม่ใช่ผู้สร้างสรรค์ผลงานก็ได้ เช่น รับมรดกมา หรือในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์งานอาจขายโอน หรืออนุญาตลิขสิทธิ์ให้แก่บุคคลอื่นได้ ดังนั้นนอกจากผู้สร้างสรรค์ผลงานแล้ว ยังมีบุคคลที่อาจมีสิทธิ์ในงานนั้น ได้แก่

     1. ผู้รับโอนสิทธิ์ ลิขสิทธิ์เป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่ง โดยมีกฎหมายคุ้มครองไม่ให้บุคคลอื่นแสวงหาผลประโยชน์จากความคิดสร้างสรรค์ของผู้สร้าง วิธีการที่บุคคลอื่นจะแสวงหาผลประโยชน์จากงานสร้างสรรค์ได้โดยชอบธรรมคือ การทำนิติกรรมซื้อลิขสิทธิ์ หรือการขออนุญาตในงานนั้นจากผู้สร้างสรรค์ ผู้ซื้อลิขสิทธิ์หรือผู้รับอนุญาตก็จะเป็นผู้มีสิทธิ์ตามกฎหมาย การโอนสิทธิ์นิติกรรมนี้ กฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ และในการโอนลิขสิทธิ์นี้ เจ้าของลิขสิทธิ์จะโอนลิขสิทธิ์ทั้งหมดหรือบางส่วนหรือโดยมีการกำหนดเวลาก็ได้
     การโอนลิขสิทธิ์กับการอนุญาตลิขสิทธิ์ จะมีความแตกต่างกัน คือ การโอนลิขสิทธิ์จะมีผลทำให้ผู้รับโอนได้ไปซึ่งลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์นั้น แต่การขออนุญาตลิขสิทธิ์ มีผลแต่เพียงว่า บุคคลผู้ได้รับอนุญาตนั้นอาจใช้ประโยชน์จากงานสร้างสรรค์ได้โดยไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

     2. ผู้ว่าจ้างในสัญญาจ้างทำของ งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการรับจ้างจากบุคคลอื่นตามสัญญาจ้างทำของนั้น หากมิได้ตกลงกันไว้อย่างอื่น ลิขสิทธิ์ในงานนั้นจะเป็นนของผู้ว่าจ้าง เช่น บริษัทออกแบบบ้านจ้างสถาปนิก ออกแบบบ้านเพื่อพิมพ์แบบบ้านออกจำหน่าย ลิขสิทธิ์ในการออกแบบจะเป็นของบริษัทที่ว่าจ้าง โดยถือหลักฐานว่า ผู้สร้างงานเป็นผู้ลงแรง ผู้ว่าจ้างเป็นผู้ลงทุน

     3. กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น งานสร้างสรรค์ใดที่สร้างขึ้นโดยการว่าจ้างของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น  ให้ลิขสิทธิ์นั้นตกเป็นของหน่วยงานดังกล่าว เว้นแต่จะตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น
     ผู้สร้างสรรค์และผู้มีลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์นั้นทั้งหลายเหล่านี้คือผู้เสียหายในคดีละเมิดลิขสิทธิ์นั้นเอง

     4. ลูกจ้างในสัญญาจ้างแรงงาน งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างขึ้นมาในฐานะพนักงานหรือลูกจ้างตามสัญญาแรงงานนั้น หากมิได้ทำเป็นหนังสือตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นแล้วให้ลิขสิทธิ์ในงานนั้นเป็นของผู้สร้างสรรค์ซึ่งก็คือ พนักงานหรือลูกจ้างนั้นเอง

เงื่อนไขของการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์
     งานใดจะมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายหรือไม่ พิจารณาจากความเป็นจริงว่าได้มีการสร้างสรรค์ผลงานอันได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์หรือไม่ ทั้งนี้โดยไม่ต้องจดทะเบียน ไม่ต้องแสดงการสงวนลิขสิทธิ์ไว้ หรือทำตามแบบพิธีอย่างใด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์นั้นไม่มีเงื่อนไขแต่อย่างใด เป็นการได้มาตามความเป็นจริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น