ความหมายและลักษณะของยืม

     ยืม คือสัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 9 ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภท คือ ยืมใช้คงรูปและยืมใช้สิ้นเปลือง โดยดูจากทรัพย์ว่าเป็นประเภทสิ้นเปลือง เช่น น้ำ ข้าว หรือเป็นประเภทคงรูป เช่น รถยนต์ กระเป๋า เป็นต้น

ยืมใช้คงรูปและยืมใช้สิ้นเปลือง

     ดังนั้น ยืม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ได้ให้คำนิยามไว้โดยตรง แต่ได้บัญญัติเฉพาะคำนิยามของ "ยืมใช้คงรูป" และคำนิยามของ "ยืมใช้สิ้นเปลือง" ไว้เท่านั้น เนื่องจากยืมเป็นสัญญาชนิดหนึ่ง ลักษณะของยืมจึงมีสาระสำคัญดังนี้
     1. ยืมเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเรียกว่า "ผู้ยืม" อีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า "ผู้ให้ยืม" โดยการที่จะเป้นสัญญายืมได้ จะต้องเป็นเรื่องที่คู่กรณี แสดงเจตนาโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์กัน
     2. คู่สัญญาต้องมีความสามารถตามกฎหมาย กล่าวคือ ไม่เป้นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ มิฉะนั้นสัญญาจะเป็นโมฆียะ
     3. วัตถุประสงค์ของสัญญายืมต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือไม่เป็นการพ้นวิสัย มิฉะนั้นย่อมตกเป็นโมฆะได้ เช่น นายทองมาขอกู้เงินนายดี โดยนายทองจะนำเงินไปลงทุนค้าฝิ่น โดยนายดีได้ให้นายทองกู้เงิน เป็นการอุปการะผู้กระทำความผิด ซึ่งการอุปการะนี้ต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมาย ดังนั้นวัตถุประสงค์แห่งการยืมจึงตกเป็นโมฆะ
     4. ผู้ให้ยืมจะต้องส่งมอบทรัพย์สินให้ผู้ยืมได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งแยกพิจารณ่ได้ดังนี้
          4.1 ถ้าเป็นการยืมใช้คงรูป ผู้ให้ยืมต้องให้ผู้ยืมได้ใช้ทรัพย์สินที่ยืม โดยไม่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้ผู้ยืม
          4.2 ถ้าเป็นการยืมใช้สิ้นเปลือง ผู้ให้ยืมต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ให้แก่ผู้ยืม ในการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่ยืม
     5. เมื่อได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่ยืมเสร็จแล้ว ผู้ยืมต้องคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้ให้ยืม โดยแยกพิจารณาดังนี้ คือ
          5.1 ถ้าเป็นการยืมใช้คงรูป ผู้ยืมต้องคืนทรัพย์สินที่ยืมนั้น
          5.2 ถ้าเป็นการยืมใช้สิ้นเปลือง ผู้ยืมต้องคืนทรัพย์สินที่ มีประเภท ชนิด และปริมาณเดียวกัน แทนทรัพย์สินที่ให้ยืมนั้น

การคุ้มครองสิทธิ์และการละเมิดลิขสิทธิ์

การคุ้มครองสิทธิ์
     งานสร้างสรรค์ใดที่มีสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ผู้สร้างสรรค์หรือผู้มีสิทธิ์นั้นย่อมมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการ
     1. การทำซ้ำหรือดัดแปลง
     2. เผยแพร่ต่อสาธารณชน
     3. ให้เช่าต้นฉบับ หรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศน์วัสดุ ภาพยนต์และสิ่งบันทึกเสียง
     4. ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น
     5. อนุญาติให้ผู้อื่นใช้สิทธิตามข้อ (1) หรือ (2) หรือ (3) โดยเงื่อนไขเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยหรือไม่ก็ได้
     ในกรณีที่เจ้าของลิขสิทธิ์ได้รับอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิตามข้อ (5) ข้างต้น ย่อมไม่ตัดสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่จะอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิันั้นได้ด้วย เว้นแต่หนังสืออนุญาตจะมีข้อห้ามไว้

การละเมิดลิขสิทธิ์
     จากเรื่องของการคุ้มครองสิทธิที่กล่าวมานั้น กฎหมายจะอนุญาติให้ผู้มีลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว ที่จะทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชน เพราะฉะนั้น หากบุคคลใดที่ไม่มีลิขสิทธิ์ และไม่ได้รับอนญาต การทำการดังกล่าวให้ถือว่า การกระทำนั้นเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ดังนี้

     การทำซ้ำ หมายความรวมถึงคัดลอกไม่ว่าโดยวิธีใดๆ เลียนแบบ ทำสำเนา ทำแม่พิมพ์ บันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกเสียงและภาพจากต้นฉบับ จากสำเนา หรือจากการโฆษณาในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ ทั้งนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เช่น ลอกนวนิยายของผู้อื่น ลอกแบบบ้านของผู้อื่น ลอกตำราของผู้อื่น ฯลฯ การคัดลอกนี้แม้จะเป็นการคัดลอกเพียงบางส่วน หากเป็นส่วนที่สาระสำคัญแล้วก็ถือว่า เป็นการทำซ้ำเช่นกัน แต่ถ้าการคัดลอก แต่ถ้าคัดลอกในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ เช่น คัดลอกตัวอย่างคำพิพาทษาฏีกาจากตำรากฎหมายของผู้อื่น ดังนี้ไม่ถือว่าเป็นการทำซ้ำ ดังนั้นจึงไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
     ในส่วนที่เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้หมายรวมถึงคัดลอกหรือทำสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์จากสื่อบันทึกต่างๆ ไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ โดยไม่มีลักษณะ เป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

     การดัดแปลง หมายความว่า การทำซ้ำโดยเปลี่ยนรูปใหม่ ปรัปปรุงแก้ไขเพิ่มเติม หรือการจำลองงานต้นฉบับใหม่ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญโดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เช่น การแปล เปลี่ยนรูปวรรณกรรรม หรือรวบรวมวรรณกรรม คัดเลือกและจัดลำดับใหม่ หรือปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยไม่ใช่ลักษณะเป็นการจัดทำขึ้นใหม่ เปลี่ยนงานที่ไม่ใช่นาฎกรรมเป็นนาฎกรรม หรือเปลี่ยนงานนาฎกรรมให้เป็นงานที่ไม่ใช่นาฎกรรม หรือการจัดลำดับ เรียบเรียงเสียงประสาน หรือเปลี่ยนคำร้อง หรือทำนองใหม่ในงานดนตรีกรรม เป็นต้น

     การเผยแพร่ต่อสาธารณชน หมายความว่า ทำให้ปรากฏต่อสาธารณชน โดยการแสดง บรรยาย การสวด การบรรเลง การทำให้ปรากฎด้วยเสียงหรือภาพ การก่อสร้าง หรือการจำหน่าย หรือโดยวิธีอื่นใดซึ่งงานที่ได้จัดทำขึ้น เช่น เปิดเพลงออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น
     เราจะเห็นว่า สาระสำคัญของการกระทำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์นี้ มุ่งที่จะสกัดกั้น การเปิดเผยงานอันมีลิขสิทธิ์ต่อสาธารณชนนั้นเอง ทั้งนี้เพราะการทำซ้ำ การดัดแปลง หรือ การโฆษณานั้น เป็นทางที่จะให้ประโยชน์แก่ผู้สร้างสรรค์งานนั้น ต้องถูกกระทบกระเทือน กฎหมายห้ามกระทำการดังกล่าว
    
     การกระทำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์อีกทางหนึ่งคือ การนำเอางานซึ่งรู้ว่าละเมิดลิขสิทธิ์ ออกขาย ให้เช่า ให้เช่าซื้อ เสนอขาย เสนอให้เช่า เสนอให้เช่าซื้อ ฯลฯ เช่น การนำวีดีโอเทปอันละเมิดลิขสิทธิ์ออกให้เช่า หรือการขายตำราที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ดังนั้นเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์รวมทั้งการเผยแพร่ต่อประชาชน แจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ นำหรือส่งเข้ามาในราชอาณาจักร

การโอนกรรมสิทธิ์ และทรัพย์สินที่ซื้อขายไม่ได้

     จากบทความก่อนหน้านี้เกี่ยวกับสัญญาซื้อขาย เราจะเห็นว่าสัญญาซื้อขายเกิดขึ้นทันที ที่มีคำเสนอ และคำสนองต้องตรงกัน เมื่อตกลงซื้อขายและโอนกรรมสิทธิ์ไปยังผู้ซื้อทันที เมื่อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโอนไปเป๊ฃ็นของผู้ซื้อ หากเกิดภัยพิบัติขึ้นโดยไม่ใช่ความผิดของผู้ขาย ความเสียหายนั้นๆ ก็ต้องตกไปแก่ผู้ซื้อ แต่มีข้อยกเว้นอยู่ 3 ประการ คือ

     1. หากมีกำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลากันไว้ กรรมสิทธิ์จะยังไม่โอนไปจนกว่า เงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาจะสำเร็จ
     2. กรณีที่ไม่ได้มีการกำหนดตัวทรัพย์ไว้แน่นอน กรรมสิทธิ์จะโอนไปเมื่อมีการ นับ วัด ชั่ง ตวง กำหนดตัวทรัพย์สินเป็นที่แน่นอนแล้ว
     3. กรณีเป็นสัญญาจะซื้อขาย กรรมสิทธิ์จะโอนไปก็ต่อเมื่อได้มีการทำเป็นหนังสือ หรือจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในภายหลัง

ทรัพย์สินที่ซื้อขายไม่ได้
     สำหรับทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายไม่ได้นั้น อาจพิจารณาได้ ดังนี้

ทรัพย์สินที่ซื้อขายไม่ได้
 
          1. ทรัพย์สินที่มีกฎหมายห้ามจำหน่าย
              ทรัพย์สินบางประเภทจะต้องห้ามมีการจำหน่าย จ่าน โอน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตลอดจนกฎหมายอื่นๆ ก็ตาม อันได้แก่ สาธารณสมบัติของแผ่นดิน วัดและที่ธรณีสงฆ์ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทรัพย์สินที่จำหน่ายมีความผิดตามกฎหมาย
          2. ทรัพย์สินที่มีการห้ามจำหน่ายด้วยเจตนาของบุคคล
              ทรัพย์สินประเภทนี้เป็นการแสดงเจตนาของเจ้าของทรัพย์สิน ภายใต้ข้อบังคับของกฎหมาย เช่น การทำพินัยกรรมเอาไว้



ความหมาย ลักษณะ และประเภทของสัญญาซื้อขาย

     สัญญาซื้อขายและสัญญาขายฝากมีความใกล้เคียงกันมากครับ แต่ในบางกรณีในสัญญาขายฝากจะต้องนำบทบัญญัติในเรื่องสัญญาซื้อขายมาบังคับใช้ด้วย อย่างไรก็ตามสัญญาทั้งสองอย่างก็มีตวามแตกต่างกันอยู่หลายประการ เช่น การที่ผู้ขายฝากยังไม่มีสิทธิในการไถ่สินทรัพย์คืนได้ ภายในกำหนดระยะเวลาที่ตกลงกัน ในขณะที่สัญญาซื้อขายนั้นผู้ซื้อมีสิทธิโดยสมบูรณ์ในทรัพย์สินนั้นทันที

สัญญาซื้อขายโดยมีผู้โอนกรรมสิทธิ์และผู้ซื้อ

      สัญญาซื้อขาย เป็นเอกเทศสัญญาอย่างหนึ่ง คือ สัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า ผู้ซื้อ โดยผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย

ลักษณสำคัญของสัญญาซื้อขาย
     1. เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ต้องมีคู่สัญญาสองฝ่าย คือ ผู้ซื้อกับผู้ขาย ต่างฝ่ายต่างได้รับประโยชน์ตอบแทนจากกันและกัน โดยผู้ขายได้รับชำระราคา และผู้ซื้อได้รับสินทรัพย์ไป
     2. เป็นสัญญาที่ไม่มีแบบ เพียงแต่มีคำเสนอและคำสนองตรงกัน ก็ถือว่าเป็นการซื้อขายแล้ว ซึ่งมีข้อยกเว้นอยู่ว่าถ้าสินทรัพย์ที่จะซื้อขายกันนั้น เป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษจะต้องทำตามแบบ ไม่เช่นนั้นสัญญาจะตกเป็นโมฆะ
     3. เป็นสัญญาที่ผู้ขายมุ่งจะโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อ และผู้ซื้อมุ่งชำระราคาแก่ผู้ขาย

ประเภทของสัญญาซื้อขาย ประเภทของสัญญาซื้อขายสามารถพิจารณาได้ดังนี้
     1. สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด เป็นสัญญาซื้อขายที่มีการกำหนดตัวทรัพย์ซื้อขายที่แน่นอน โดยผู้ขายจะต้องมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ซื้อขาย
     2. สัญญาจะซื้อขาย เป็นสัญญาที่คู่สัญญามีเจตนาจะไปทำการโอนกรรมสิทธิ์กันในภายหลัง เพราะฉะนั้นกรรมสิทธิ์จะยังไม่โอนในขณะที่ทำสัญญา ซึ่งรวมถึงกรณีการทำสัญญาซื้อขายทรัพย์สินที่ต้องทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนด
     3. คำมั่นว่าจะซื้อขาย ถ้าทรัพย์สินที่ซื้อขายเป็นอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ การจะทำคำมั่นจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อ ฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือได้วางประจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้

แบบของสัญญาซื้อขาย
     1. สัญญาซื้อขายที่ต้องทำเป็นหนังสือหรือจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ได้แก่ สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ และสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ หากไม่ทำตามแบบก็จะตกเป็นโมฆะ
     2. การทำหลักฐานเป็นหนังสือ การวางประจำ หรือการชำระหนี้บางส่วน การซื้อขายบางประเภทหากไม่ทำก็จะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้

ผู้มีลิขสิทธิ์คือใครบ้าง?

     ตามหลักทั่วไปแล้ว ผู้มีลิขสิทธิ์ คือ ผู้สร้างสรรค์ หรือผู้ที่ได้ใช้แนวคิดสร้างสรรค์งานนั้นขึ้นมาเอง แต่อาจมีอยู่บางกรณีที่ผู้สร้างสรรค์ผลงานอาจละเมิดลิขสิทธิ์ในงานของตนเองได้ เช่น การออกแบบ ภาพวาดที่ขายให้คนอื่นแล้วทำซ้ำขึ้นอีกเพื่อเอาไปขายให้คนอื่นอีก หรืออาจเป็นเพราะ ผู้มีลิขสิทธิ์อาจจะไม่ใช่ผู้สร้างสรรค์ผลงานก็ได้ เช่น รับมรดกมา หรือในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์งานอาจขายโอน หรืออนุญาตลิขสิทธิ์ให้แก่บุคคลอื่นได้ ดังนั้นนอกจากผู้สร้างสรรค์ผลงานแล้ว ยังมีบุคคลที่อาจมีสิทธิ์ในงานนั้น ได้แก่

     1. ผู้รับโอนสิทธิ์ ลิขสิทธิ์เป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่ง โดยมีกฎหมายคุ้มครองไม่ให้บุคคลอื่นแสวงหาผลประโยชน์จากความคิดสร้างสรรค์ของผู้สร้าง วิธีการที่บุคคลอื่นจะแสวงหาผลประโยชน์จากงานสร้างสรรค์ได้โดยชอบธรรมคือ การทำนิติกรรมซื้อลิขสิทธิ์ หรือการขออนุญาตในงานนั้นจากผู้สร้างสรรค์ ผู้ซื้อลิขสิทธิ์หรือผู้รับอนุญาตก็จะเป็นผู้มีสิทธิ์ตามกฎหมาย การโอนสิทธิ์นิติกรรมนี้ กฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ และในการโอนลิขสิทธิ์นี้ เจ้าของลิขสิทธิ์จะโอนลิขสิทธิ์ทั้งหมดหรือบางส่วนหรือโดยมีการกำหนดเวลาก็ได้
     การโอนลิขสิทธิ์กับการอนุญาตลิขสิทธิ์ จะมีความแตกต่างกัน คือ การโอนลิขสิทธิ์จะมีผลทำให้ผู้รับโอนได้ไปซึ่งลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์นั้น แต่การขออนุญาตลิขสิทธิ์ มีผลแต่เพียงว่า บุคคลผู้ได้รับอนุญาตนั้นอาจใช้ประโยชน์จากงานสร้างสรรค์ได้โดยไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

     2. ผู้ว่าจ้างในสัญญาจ้างทำของ งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการรับจ้างจากบุคคลอื่นตามสัญญาจ้างทำของนั้น หากมิได้ตกลงกันไว้อย่างอื่น ลิขสิทธิ์ในงานนั้นจะเป็นนของผู้ว่าจ้าง เช่น บริษัทออกแบบบ้านจ้างสถาปนิก ออกแบบบ้านเพื่อพิมพ์แบบบ้านออกจำหน่าย ลิขสิทธิ์ในการออกแบบจะเป็นของบริษัทที่ว่าจ้าง โดยถือหลักฐานว่า ผู้สร้างงานเป็นผู้ลงแรง ผู้ว่าจ้างเป็นผู้ลงทุน

     3. กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น งานสร้างสรรค์ใดที่สร้างขึ้นโดยการว่าจ้างของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น  ให้ลิขสิทธิ์นั้นตกเป็นของหน่วยงานดังกล่าว เว้นแต่จะตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น
     ผู้สร้างสรรค์และผู้มีลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์นั้นทั้งหลายเหล่านี้คือผู้เสียหายในคดีละเมิดลิขสิทธิ์นั้นเอง

     4. ลูกจ้างในสัญญาจ้างแรงงาน งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างขึ้นมาในฐานะพนักงานหรือลูกจ้างตามสัญญาแรงงานนั้น หากมิได้ทำเป็นหนังสือตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นแล้วให้ลิขสิทธิ์ในงานนั้นเป็นของผู้สร้างสรรค์ซึ่งก็คือ พนักงานหรือลูกจ้างนั้นเอง

เงื่อนไขของการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์
     งานใดจะมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายหรือไม่ พิจารณาจากความเป็นจริงว่าได้มีการสร้างสรรค์ผลงานอันได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์หรือไม่ ทั้งนี้โดยไม่ต้องจดทะเบียน ไม่ต้องแสดงการสงวนลิขสิทธิ์ไว้ หรือทำตามแบบพิธีอย่างใด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์นั้นไม่มีเงื่อนไขแต่อย่างใด เป็นการได้มาตามความเป็นจริง

ความหมายและลักษณะของสัญญาจ้างแรงงาน

     ในส่วนของสัญญาจ้างแรงงานและจ้างทำของนั้น จะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันและมีความแตกต่างกันบ้างบางประการ โดยการจ้างบุคคลอื่นให้มาทำงานให้ในสัญญาจ้างแรงงานไม่ได้มุ่งถึงผลสำเร็จของงานเป็นหลัก โดยที่สัญญาจ้างทำของ ผู้ว่าจ้างจะใช้แรงงานหรือทรัพยากรอื่นใดก็ได้ โดยมุ่งถึงผลสำเร็จของงานเป็นหลัก

สัญญาจ้างแรางาน นายจ้าง และลูกจ้าง

ความหมายของสัญญาจ้างแรงงาน
     สัญญาจ้างแรงงาน คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า "ลูกจ้าง" ตกลงทำงานให้แก่บุคคลหนึ่งเรียกว่า "นายจ้าง"โดยนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างแก่ลูกจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้

ลักษณะของสัญญาจ้างแรงงานที่สำคัญ คือ
     1.สัญญาจ้างแรงงานเป็นเอกเทศสัญญาอย่างหนึ่ง คือ เป็นนิติกรรมสองฝ่ายระหว่างฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้างที่มีการบัญญัติไว้ในเอกเทศสัญญาในลักษณะจ้างแรงงาน จ้างทำของ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
     2. สัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ก่อให้เกิดหนี้แก่คู่กรณีทั้งสองฝ่าย โดยฝ่ายลูกจ้างมีหนี้ที่ต้องทำงานให้แก่นายจ้าง และนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายสินจ้างให้แก้ลูกจ้างตลอดเวลาที่ทำงาน ซึ่งผลตามกฎหมายหากคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายย่อมมีสิทธิที่จะไม่ชำระหนี้เช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามการจ้างแรงงานส่วนใหญ่จะใช้กฎหมายเกี่ยวกับแรงงานที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะ
     3. สัญญาจ้างแรงงานไม่มีแบบหรือหลักฐานเป็นหนังสือ คือ กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องทำตามแบบหรือทำเป็นหนังสือ ฉะนั้นเพียงแต่เจตาของทั้งสองฝ่ายตรงกัน ก็ถือว่าสัญญาจ้างแรงงานเกิดขึ้นแล้ว
     4. สัญญาจ้างแรงงานมีสาระสำคัญอยู่ที่ตัวของคู่สัญญา คือ คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจะโอนสิทธิ และหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานให้ผู้อื่นไม่ได้ นอกจากอีกฝ่ายหนึ่งจะยินยอม ในกรณีที่ลูกจ้างตายลง สัญญาจ้างแรงงานย่อมระงับ ทายาทจะสวมสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาไม่ได้ แต่สำหรับกรณีนายจ้างนั้น หากสัญญาจ้างแรงงานมีสาระสำคัญอยู่ที่ตัวบุคคล ผู้เป็นนายจ้าง สัญญาจ้างก็จะถูกระงับไปเชานกัน
        สัญญาจ้างแรงงานอาจเป็นความตกลงในการทำงานที่ต้องใช้สติปัญญา นอกเหนือจากแรงงานก็ได้ สินจ้างในสัญญาแรงงานอาจเป็นทรัพย์สินอื่น โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเงินเท่านั้น และลูกจ้างที่กล่าวมานี้ ไม่ได้หมายรวมถึง ข้าราชการ และลูกจ้างของกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะมีกฎหมายที่บัญญัติไว้เป็นพิเศษ

ประเภท ความสมบูรณ์ แบบแห่งนิติกรรม

ประเภทของนิติกรรม แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
     1. นิติกรรมฝ่ายเดียวกับนิติกรรมหลายฝ่าย
          นิติกรรมฝ่ายเดียว ได้แก่ นิติกรรมซึ่งเกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาของบุคคลฝ่ายเดียว เช่น การตั้งมูลนิธิ การทำพินัยกรรม เป็นต้น
          นิติกรรมสองฝ่าย ได้แก่ นิติกรรมที่เกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาตั้งแต่ 2 ฝ่ายขึ้นไป เช่น สัญญาซื้อขาย สัญญาเช่า เป็นต้น
     2. นิติกรรมที่มีผลเมื่อผู้ทำมีชีวิตอยู่ กับนิติกรรมที่มีผลเมื่อผู้ทำตายแล้ว
           นิติกรรมที่มีผลเมื่อผู้ทำยังมีชีวิตอยู่ ได้แก่ นิติกรรมที่ผู้เจตนาประสงค์จะให้เกิดผลในขณะมีชีวิตอยู่ เช่น คำมั้นจะให้รางวัล การรับสภาพนี้ เป็นต้น
           นิติกรรมที่มีผลเมื่อผู้ทำตายแล้ว ได้แก่ นิติกรรมที่ผู้ทำประสงค์ให้เป็นผลเมื่อตนเองได้เสียชีวิตลงแล้ว เช่น พินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
     3. นิติกรรมมีค่าตอบแทนกับนิติกรรมไม่มีค่าตอบแทน
           นิติกรรมมีค่าตอบแทนได้แก่ นิติกรรมสองฝ่ายซึ่งต่างฝ่ายต่างมีประโยชน์ตอบแทนกัน ซึ่งค่าตอบแทนที่ว่านั้นอาจเป็นประโยชน์ หรือสินทรัพย์ หรือการชำระหนี้ตอบแทนก็ได้ เช่น สัญญาซื้อขาย สัญญาเช่าทรัพย์ เป็นต้น
           นิติกรรมที่ไม่มีผลตอบแทน ได้แก่ นิติกรรมที่ผู้รับการแสดงเจตนาของอีกฝ่ายนั้น ไม่จำต้องให้ประโยชน์ตอบแทนแก่อีกฝ่ายหนึ่ง เช่น สัญญาให้โดยเสน่หา สัญญายืมใช้คงรูป เป็นต้น

ความสมบูรณ์แห่งนิติกรรม
     1. ความสามารถของบุคคลในการทำนิติกรรม
         ถ้านิติกรรมใดได้กระทำลงโดยผู้หย่อนความสามารถตากกฎหมาย ซึ่งได้แก่บุคคล 3 ประเภท คือ ผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ และคนเสมือนไร้ความสามารถ นิติกรรมนั้นย่อมตกเป็นโมฆียะ
     2. วัตถุประสงค์แห่งนิติกรรมไม่ชอบด้วยกฎหมาย
          จุดประสงค์หรือความมุ่งหมายสุดท้ายของคู่กรณี มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เช่น สัญญาจ้างฆ่าคน สัญญาซื้อขายสิ่งผิดกฎหมาย เป็นต้น หรือ มีวัตถุประสงค์อันเป็นการพ้นวิสัยก็ดี คือ เป็นกรณีที่ผู้ให้สัญญาไม่มีทางปฎิบัติตามสัญญาได้เลย โดยไม่มีทางทำให้สำเร็จได้ ไม่ใช่เพียงแต่สัญญาที่ปฎิบัติยาก หรือทำให้เสียเปรียบอย่างมากเท่านั้น หรือมีวัตถุประสงค์เป็นการขัดความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

แบบแห่งนิติกรรม
     แบบแห่งนิติกรรม หมายถึง วิธีที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นพิเศษเพื่อเป็นหลักบังคับให้ผู้ทำนิติกรรมต้องทำตามให้ครบถ้วน มิฉะนั้น นิติกรรมจะตกเป็นโมฆะ โดยสามารถแยกชนิดของแบบแห่งนิติกรรม ได้แก่
     1. ชนิดที่ต้องทำเป็นหนังสือ ได้แก่ นิติกรรมที่กฎหมายกำหนดให้ต้องเป็นหนังสืออย่างน้อยสุดระหว่างกันเอง จึงเห็นสมควรให้ผู้ทำนิติกรรมบันทึกข้อตกลงไว้เป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายไว้ เช่น สัญญาเช่าซื้อ สัญญาตัวแทนบางประเภท หากตกลงทางวาจาถือว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะ
     2. ชนิดที่ต้องทำเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ คือ นอกจากจะทำเป็นหนังสือแล้ว กฎหมายยังกำหนดให้ต้องไปบันทึกไว้ต่อหน้าเจ้าพนักงานจึงจะมีผล เช่น การคัดค้่าน ตัวแลกเงิน การทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง หรือแบบเอกสารลับ เป็นต้น
     3. ชนิดที่ต้องทำเป็นหนังสือจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเป็นนิติกรรมที่สำคัญมาก กฎหมายจึงกำหนดไว้ว่านอกจากต้องทำเป็นหนังสือแล้ว ยังต้องไปทำการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย เช่น สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ สัญญาฝากขาย สัญญาจำนอง สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่มีกำหนดเกินกว่า 3 ปีขึ้นไป หากไม่ได้ทำเป็นหนังสือหรือจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ ถือตกเป็นโมฆะ

ลักษณะสำคัญของสัญญาเช่าทรัพย์

     การเช่าทรัพย์สิน คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า "ผู้ให้ทรัพย์" ตกลงให้บุคคลหนึ่งเรียกว่า "ผู้เช่า" ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งระยะเวลาอันมีจำกัด และผู้เช่าตกลงจะได้ค่าเช่าเพื่อการนั้น
การเช่าทรัพย์สิน ห้องเช่า


ลักษณะสำคัญของสัญญาเช่าทรัพย์
     1. สัญญาที่มิได้มุ่งหมายจะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน
         คือ มิได้มุ่งหมายโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ให้เช่า แต่การโอนสิทธิ์เพื่อครอบครอง ดังนี้ ผู้ให้เช่าจำเป็นต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ให้เช่า ส่วนเรื่องระหว่างผู้ให้เช่ากับเจ้าของ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ผู้ให้เช่าก็ควรจะต้องมีสิทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ด้วยจึงจะให้เช่าได้
     2. สัญญามีวัตถุเป็นทรัพย์สิน
         คือ วัตถุที่ให้เช่าอาจเป็นอสังหาริมทรัพย์ สังหาริมทรัพย์ หรือทรัพย์ไม่มีรูปร่าง (เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา) ตลอดจนสิทธิ์ต่างๆ ที่มีราคาและอาจถือได้ เช่น สิทธิ์ในสัมปทาน
     3. สัญญาเช่าทรัพย์เป็นสัญญาที่มีข้อตกลงชั่วระยะเวลาอันจำกัด
         คือ เป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาการเช่าที่สิ้นสุดแน่นอน แม้ว่าจะเป็นสัญญาเช่า ที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาการเช่าไว้ก็ตาม
     4. เป็นสัญญาต่างตอบแทน
         เพราะว่าเป็นสัญญาที่ฝ่ายหนึ่งให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ใช้ หรือรับประโยชน์ในทรัพย์สิน โดยที่อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเสียค่าเช่าตอบแทนให้ ทำให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องชำระหนี้ให้แก่กันและกัน เป็นการตอบแทน
     5. เป็นสัญญาทีถือคุณสมบัติของผู้เช่าเป็นสำคัญ
         คือ ผู้ให้เช่าจะพิจารณาให้ผู้ใดเช่าสินทรัพย์ของตนนั้น จะเพ่งเล็งถึงคุณสมบัติของ ผู้เช่าเป็นสำคัญ เช่น ห้ามมิให้การเช่าช่วงหากผู้เช่ามิได้อนุญาต และเมื่อผู้เช่าตาย สัญญาเช่าก็จะระงับลง
การเช่าทรัพย์สิน บ้านเช่า
 
รูปภาพจาก weloveshopping.com

ความหมายและประเภทของการประกันภัย

     ประกันภัย หมายถึง การโอนความรับผิดชอบจากผู้เอาประกันไปยังบริษัทผู้รับประกัน โดยผู้รับประกันสัญญาว่า เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น ตามที่ตกลงกันไว้ บริษัทจะจ่ายค่าเสียหายให้ตามจำนวนที่ประกัน เพื่อแลกเปลี่ยนกับความรับผิดชอบอันนี้ แต่ผู้เอาประกันจะต้องส่งเงินจำนวนหนึ่งให้กับบริษัทเป็นเบี้ยประกันภัย
     สัญญาประกันภัย หมายถึง สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัย เหตุการณ์อื่นๆ ที่ระบุไว้ในสัญญา ในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า ค่าเบี้ยประกัน
     ผู้รับประกัน หมายความว่า คู่สัญญา ฝ่ายซึ่งตกลงจะใช้สินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้
     ผู้เอาประกัน หมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงส่งเบี้ยประกันภัย
     ผู้รับผลประโยชน์ หมายความว่า บุคคลผู้จะพึงได้รับค่าสินไหมทดแทน หรือรับจำนวนเงินใช้ให้

ประกันภัย ประกันรถยนต์
  
     สัญญาประกันภัยจะเป็นเอกเทศสัญญา มีัหลักเกณฑ์เหมือนสัญญาอื่นๆ แต่มีลักษณะเฉพาะอีก 3 ประการ คือ
     1. เป็นสัญญาต่างตอบเทน
          ผู้เอาประกันและผู้รับประกันต่างก็เป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งกันและกัน ผู้เอาประกันเป็นลูกหนี้ที่ต้องชำระค่าเบี้ยประกัน และเป็นเจ้าหนี้ที่ได้รับชดเชยค่าสินไหมทดแทน ส่วนผู้รับประกันเป็นเจ้าหนี้ที่ได้รับเบี้ยประกัน และเป็นลูกหนี้ที่ต้องชำระค่าสินไหมทดแทน เมื่อมีเหตุตามสัญญาเกิดขึ้น
     2. เป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขอันไม่แน่นอน
          เพราะเป็นภัยที่ไม่มีใครคาดคิดล่วงหน้าว่าจะเกิดขึ้นแก่ใคร เมื่อใด ผู้เอาประกันที่ส่งเบี้ยประกันแล้วอาจไม่ได้รับเงินหากมีภัยที่ไม่ได้ระบุไว้ในสัญญา ส่วนผู้รับประกันต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนจำนวนมากทั้งที่ผู้เอาประกันจ่ายเบี้ยประกันเพียงนิดเดียว
     3. เป็นสัญญาที่รัฐควบคุม
          3.1 การประกอบธุรกิจประกันจะต้องอยู่ในรูปของบริษัท จำกัด และได้รับการอนุญาต และอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี
          3.2 กรมธรรม์ประกันภัยที่บริษัทออกให้กับผู้เอาประกัน ต้องเป็นไปตามแบบ และข้อความที่นายทะเบียนเห็นชอบแล้ว
          3.3 อัตราดอกเบี้ยประกันภัยต้องเป็นไปตามที่นายทะเบียนเห็นชอบ บริษัทจะกำหนดเองไม่ได้

ประเภทของสัญญาประกันภัย
     ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ สัญญาประกันวินาศภัย และสัญญาประกันชีวิต มีลักษณะแตกต่างกัน คือ
     สัญญาประกันวินาศภัย เป็นสัญญาที่มุ่งหมายชดใช้สินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นอันสามารถคำนวณเป็นราคาเงินได้

 สัญญาประกันวินาศภัย จากไฟไหม้ 

     สัญญาประกันชีวิต มุ่งให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เอาประกัน หรือผู้มีความสัมพันธ์กับผู้เอาประกัน ผู้เอาประกันที่ต้องพึ่งพากันถ้าผู้เอาประกันถึงแก่กรรม การใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลหนึ่ง
เพราะอุบัติเหตุต้องเสียค่ารักษาพยาบาลหรือค่าอวัยวะเทียม สิ่งเหล่านี้สามารถคำนวณเป็นเงินได้ ก็ประกันได้ 

     ถ้าเสีย ความสุข ความอาลัยอาวรณ์ ความเสียดาย จะประกันภัยไม่ได้ แต่ถ้าเสียแขน ขา อวัยวะใด เพราะอุบัติเหตุต้องเสียค่ารักษาพยาบาลหรือค่าอวัยวะเทียม สิ่งเหล่านี้สามารถคำนวณเป็นเงินได้ ก็ประกันได้

รูปภาพจาก ecomnewsphuket.com,
oknation.net,cymiz.com 

นายหน้าคือใคร?

     " หลายๆคนอาจจะคุ้นหูกับคำว่า "นายหน้า" เช่น นายหน้าขายที่ดิน นายหน้าขายรถยนต์ ฯลฯ อาชีพเหล่านี้บ่งบอกถึงความหมายของคำว่านายหน้าได้เป็นอย่างดีเลยหละครับ เพราะนายหน้าเหล่านี้จะช่วยให้บุคคลทั้งสองฝ่ายตกลงทำสัญญาต่างๆ เรามาดูความหมายของคำว่านายหน้าว่าคืออะไร "

     นายหน้า คือ บุคคลที่ชี้ช่องทางหรือจัดการให้บุคคลสองฝ่ายได้เข้าทำสัญญากัน เช่น สัญญาขายทรัพย์สิน สัญญาจำนองที่ดิน เป็นต้น แต่ถ้าเป็นการชี้ช่องให้เข้าทำสัญญาที่ผิดกฎหมาย เช่น สัญญาขายยาเสพติด จะถือว่าเป็นสัญญาเสียเปล่าบังคับไม่ได้ นายหน้าก็ไม่มีสิทธิเรียกค่าบำเหน็จ
     สัญญานายหน้าจะเป็นหนังสือ หรือตกลงด้วยปากเปล่าก็ได้ แต่สัญญานายหน้าจะต่างกับสัญญาตัวแทนที่ว่า นายหน้าเป็นผู้ชี้ช่องให้คู่กรณีทำสัญญากันเท่านั้นไม่มีสิทธิลงชื่อหรือเข้าทำสัญญาแทน ไม่มีสิทธิทำนิติกรรมสัญญาโดยตรง

นายหน้าขายบ้าน


สาระสำคัญของสัญญานายหน้า มีดังนี้
     1. สัญญานายหน้าเป็นสัญญาสองฝ่าย
     2. วัตถุประสงค์ของสัญญาก็คือ การที่นายหน้าชี้ช่อง หรือจัดการให้มีการทำสัญญา
     3. บุคคลที่ตกลงกันจะได้ค่าบำเหน็จนายหน้า จะรับผิดชอบจ่ายค่าบำเหน็จต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ

บำเหน็จของนายหน้า
     สัญญานายหน้านั้น ตามปกติถือว่ามีบำเหน็จ แม้จะไม่มีข้อตกลงกันไว้ก็ต้องให้ตามธรรมเนีบม คือ ร้อยละ 5 (ที่ดิน ร้อยละ 3)สิทธิเรียกค่าบำเหน็จเกิดขึ้น เมื่อตัวการกับบุคคลภายนอกได้ตกลงกัน ทำสัญญากันเสร็จ แม้ต่อมาจะมีการบอกเลิกสัญญาภายหลัง ก็ต้องจ่ายค่าบำเหน็จให้

อายุความเรียกค่านายหน้า
     ค่าบำเหน็จนายหน้า ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่น สิทธิเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้าจะมีอายุความ 10 ปี

ความระงับสิ้นไปแห่งสัญญานายหน้า
     โดยที่ไม่มีกฎหมายลักษณะนี้บัญญัติไว้ จึงต้องใช้หลักเลิกสัญญาโดยทั่วไปมาบังคับใช้ เช่น สัญญากำหนดว่านายหน้าจะต้องจัดการหาผู้ซื้อมาทำสัญญาภายใน 3 เดือน สัญญานายหน้าก็มีกำหนด 3 เดือน ครบ 3 เดือนนายหน้ายังหาผู้ซื้อไม่ได้ สัญยานายหน้าก็เป็นอันบอกเลิกไป

รูปภาพจาก wimarn.com 

ประเภทของเอกเทศสัญญา

  • สัญญาซื้อขาย คือ สัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า ผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์ให้แก่บุคคลหนึ่ง เรียกว่า ผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้กับผู้ขาย
  • สัญญาแลกเปลี่ยน คือ สัญญาซึ่งคู่กรณีต่างๆ โอนกรรมสิมธิ์แห่งทรัพย์สินให้กันและกัน
  • สัญญาให้ คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้ให้ โอนทรัพย์สินของตนให้โดยเสน่หาแก่บุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้รับ และผู้รับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้น
  • สัญญาเช่าทรัพย์ คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้ให้เช่า ตกลงให้อีกบุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้เช่า ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด และผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น
  • สัญญาเช่าซื้อ คือ สัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกมาให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิ์แก่ผู้เช่าตามเงือนไขที่กำหนด
  • สัญญาจ้างแรงงาน คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลหนึ่งที่เรียกว่า นายจ้าง ตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงาน
  • สัญญาจ้างทำของ คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับจ้าง ตกลงรับจ้างทำงานสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่อีกบุคคลหนึ่ง เรียกว่า ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเมื่อทำงานสำเร็จ
  • สัญญารับขนของและคนโดยสาร ผู้มีหน้าที่รับขน เรีกว่าผู้ขนส่ง รับขนส่งของหรือคนโดยสารเพื่อเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติของตน
  • สัญญายืมใช้คงรูป คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้ให้ยืมให้บุคคลอีกคน เรียกว่า ผู้ยืมใช้สอยทรัพย์สิน ได้เปล่า และผู้ยืมตกลงจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว และสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง คือ สัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นเปลืองเป็นปริมาณมีกำหนดให้กับผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็น ประเภท ชนิด และปริมาณเช่นเดียวกัน แทนทรัพย์สินที่ให้ยืม
  • สัญญาฝากทรัพย์ คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้ฝาก ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่บุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้รับฝาก และผู้ฝากตกลงว่าจะเก็บทรัพย์สินนั้นไว้แล้วจะให้คืน
  • สัญญาค้ำประกัน คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้ค้ำประกัน ผูกพันธ์ตนต่อเจ้าหน้าที่เพื่อชำระหนี้เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้
  • สัญญาจำนอง คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้จำนอง เอาทรพย์สินตราไว้กับบุคคลหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง
  • สัญญาจำนำ คือสัญญาที่บุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้จำนำ ส่งมอบสังหาริมทรพย์ให้แก่บุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้รับจำนำ เพื่อประกันการชำระหนี้
  • สัญญาเก็บของในคลังสินค้า คือ สัญญาที่บุคคลหนึ่ง เรียกว่า นายคลังสินค้า รับทำการเก็บสินค้าเพื่อบำเหน็จในการค้าปกติของตน
  • สัญญาตัวแทน คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ตัวแทน มีอำนาจทำการแทนอีกคนหนึ่ง เรียกว่าตัวการ และตกลงจะกระทำการนั้น
  • สัญญานายหน้า คือบุคคลซึ่งทำสัญญาหนึ่งเรียกว่าตัวการเพื่อทำหน้าที่เป็นคนกลาง
  • สัญญาประนีประนอมยอมความ คือ สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาท ซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้น ให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน
  • สัญญาการพนัน และขันต่อไม่ถือว่าเป็นบ่อเกิดหนี้ สิ่งที่ได้ให้กันในการพนันหรือขันต่อก็จะทวงคืนไม่ได้
  • สัญญาบัญชีเดินสะพัด คือ สัญญาซึ่งบุคคล 2 คนตกลงกันว่าจะสืบแต่นั้นไป หรือในช่วงเวลากำหนดให้ตัดทอนบรรชีหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนแต่ถึงการในระหว่างเขาทั้งสองหักกลบลบกัน และคงชำระแต่ส่วนที่จะเป็นจำนวนคงเหลือ
  • สัญญาประกันภัย คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งตกลงจะจ่ายเงินสินไหมทดแทนหรือใช้เงินเมื่อเกิดวินาศภัยหรือเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังระบุไว้ในสัญญา และบุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินเรียกว่าค่าเบี้ยประกัน
  • สัญญาตั๋วเงิน มี 3 ประเภท คือ
               - ตั๋วแลกเงิน คือหนังสือตราสารซึ่งบุคคลหรือเรียกว่าผู้สั่งจ่าย สั่งบุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า จ่ายให้ใช้เงินแก่บุคคลหนึ่ง หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้รับเงิน
               - ตั๋วสัญญาใช้เงิน คือหนังสือตราสารซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้ออกตั๋ว ให้คำมั่นว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งแก่บุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้รับเงิน
               - เช็ค คือ หนังสือตราสารซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้สั่งจ่ายสั่งธนาคารให้ใช้เงินจำนวนหนึ่ง เมื่อทวงถามแก่บุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้รับเงิน


  • สัญญาหุ้นส่วนและบริษัท คือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งกำไรที่พึงได้แต่กิจการทำนั้น

    อ้างอิงรูปภาพจาก stock2morrow.com

กฎหมายธุรกิจกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก คือ
     1. กฎหมายเกี่ยวกับการจัดองค์กรธุรกิจ เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, พรบ.บริษัทมหาชนจำกัด
     2. กฎหมายเกี่ยวกับการประกอบกิจการทางธุรกิจ เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายที่ดิน เป็นต้น
     3. กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมการประกอบธุรกิจ เช่น พรบ.แรงงาน พรบ.ประกันสังคม
     4. กฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการค้า การลงทุน และการเงิน

กฎหมายธุรกิจกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

กฎหมายธุรกิจเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายทุกหมวดหมู่อันได้แก่
     1. กฎหมายธุรกิจ เป็นได้ทั้งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายอาญา เมื่อพิจารณาจากสภาพบังคับ
     2. กฎหมายธุรกิจ เป็นได้ทั้งกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างกัน
     3. กฎหมายธุรกิจ เป็นทั้งกฎหมายสาระบัญญัติและกฎหมายวิธีบัญญัติ จำแนกโดยถือเนื้อหาและการบังคับใช้

ข้อระวังในการบังคับใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษร
     1. ต้องไม่ขัดแย้งกับกฎหมายในลำดับสูง
     2. พิจารณาวันเริ่มใช้บังคับกฎหมายลายลักษณ์อักษร
     3. พิจารณาว่ากฎหมายลายลักษณ์อักษรถูกยกเลิกไปหรือยัง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
     1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นกฎหมายเอกชน ที่บัญญัติถึงสิทธิ หน้าที่ ความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชน และเป็นกฎหมายสารบัญญัติ ที่บัญญัติถึงสิทธิ หน้าที่ ความสัมพันธ์ ไม่ใช่บัญญัติถึงวิธีพิจารณาความ
     2. ให้วิธีบัญญัติให้เป็นหมวดหมู่และสังเคราะห์ให้เป็นหลักทั่วไป
     3. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แบ่งออกเป็น 6 บรรพ ดังนี้
          บรรพ 1 หลักทั่วไปเกิดจากการสังเคราะห์เนื้อหาที่เหมือนกัน
          บรรพ 2 หนี้ ว่าด้วยเรื่องหนี้
          บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ว่าด้วยเรื่องสัญญา
          บรรพ 4 ทรัพย์สิน ว่าด้วยเรื่องทรัพย์สิน
          บรรพ 5 ครอบครัว ว่าด้วยเรื่องครอบครัว
          บรรพ 1 มรดก ว่าด้วยเรื่องมรดก

เอกเทศสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
     1. นิติกรรม คือ การกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายของบุคคลโดยได้มีการแสดงเจตนามุ่งจะก่อให้เกิดผลทางกฎหมาย
     2. สัญญา คือ นิติกรรมที่เกิดขึ้นจากการตกลงระหว่างบุคคลตั้งแต่ 2 ฝ่ายขึ้นไป และเป็นบ่อเกิดแห่งสัญญาหนี้
     3. เอกเทศสัญญา คือ นิติกรรมสัญญาที่กฎหมายได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะทั้งยังกำหนดรูปแบบ สาระสำคัญ กำหนดสิทธิหน้าที่ระหว่างคู่กรณี และการระงับแห่งสัญญาโดยกฎหมายให้เสรีภาพแก่ประชาชนแต่ละคนที่จะเข้าทำนิติกรรมสัญญาใดๆ ก็ได้ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และนิติกรรมสัญญานั้นย่อมสมบูรณ์มีผลใช้บังคับได้หากไม่ขัดบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
 
รูปภาพจาก kriengsak.com

ลำดับชั้นของกฎหมายไทย

     ลำดับชั้นของกฎหมาย หรือลำดับศักดิ์ของกฎหมาย หมายถึง กฎหมายที่อยู่ในลำดับชั้นที่ต่ำกว่าจะขัดแย้งกับกฎหมายที่อยู่ในลำดับสูงกว่าไม่ได้
     ลำดับชั้นของกฎหมายเป็นแนวความคิดทางกฎหมายของประเทศฝรั่งเศส สำหรับประเทศไทยได้นำเอาหลักการดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด และเป็นแม่บทของกฎหมายอื่นๆ ได้แก่ พระราชบัญญัติ ประมวลกฎหมาย กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบังคับต่างๆ ระเบียบ กฎ ประกาศ ข้อบัญญัติท้องถิ่น ตามลำดับ

ลำดับชั้นของกฎหมายไทย

     1. วันเริ่มบังคับใช้ กฎหมายลายลักษณ์อักษรจะมีผลบังคับใช้ได้ต้องมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษากอนและเมื่อประกาศแล้วจะไม่มีผลย้อนหลัง แต่ถ้ารัฐต้องการให้มีผลย้อนหลัง จะอยู่ใต้ข้อจำกัดดังนี้
         1.1 จะต้องไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
         1.2 ให้มีผลย้อนหลังเพื่อลงโทษบุคคลไม่ได้
         1.3 หากบุคคลได้รับความเสียหายจากกฎหมายย้อนหลัง ก็มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยจากรัฐ
     2. การยกเลิกกฎหมาย มีได้ 2 วิธี คือ
         2.1 ยกเลิกโดยตรง ได้แก่ กำหนดวันยกเลิกไว้ได้ดยกฎหมายมีกฎหมายใหม่ยกเลิกและรัฐสภาไม่อนุมัติพระราชกำหนด
         2.2 ยกเลิกโดยปริยาย ในกรณีที่มีกฎหมายออกมา 2 ฉบับ มีความขัดแย้งกัน กฎหมายเก่าจะถูกยกเลิกโดยปริยาย ซึ่งต้องเป็นกฎหมายเรื่องเดียวกัน และประเภทเดียวกัน


ขอบคุณรูปภาพจาก thailaws

ลิขสิทธิ์คืออะไร

     ก่อนที่เราจะมาพูดถึงเรื่องของลิขสิทธิ์ เรามารู้จักกับหัวข้อใหญ่ก็คือ ทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากวัตถุที่เป็นรูปร่างอันเป็นทรัพย์ซึ่งบุคคลถือเอาเป็นกรรมสิทธิ์ได้แล้ว บุคคลยังมีสิทธิ์ในวัตถุไม่มีรูปร่างที่กฎหมายยอมรับและคุ้มครองให้อีกด้วย ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง ที่เรียกกันว่า "ทรัพย์สินทางปัญญา" ได้แก่ กรณีที่กฎหมายคุ้มครองสิทธิในการสร้างสรรค์การประดิษฐ์หรือคิดค้นสิ่งใหม่ๆ มี 3 ประเภท คือ 1. ลิขสิทธิ์ 2. สิทธิบัตร 3. เครื่องหมายการค้า
ตัวอย่างหนังสือรับรองลิขสิทธิ์
ตัวอย่างหนังสือรับรองลิขสิทธิ์ของประเทศไทย

     ลิขสิทธิ์ (Copyright) หมายถึง สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะกระทำการใดๆ เกี่ยวกับงาน ที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น
     กฎหมายลิขสิทธิมุ่งคุ้มครองงานที่บุคคลได้สร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยตนเอง ไม่ให้ใครลอก หรือเลียนแบบ เอาไว้ใช้ประโยชน์ เพื่อให้ผู้สร้างสรรค์งาน ได้แก่ ผู้ทำ หรือผู้ก่อให้เกิดงาน โดยความริเริ่มของตนเองได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ในงานสร้างสรรค์ของตน และให้ผู้อื่นเคารพในสิทธิของผู้สร้างสรรค์นั้น
     งานสร้างสรรค์ที่ได้รับการคุ้มครองนี้ จะต้องไม่ใช่เป็นเพียงแค่ความคิด แนวคิด หรือแนวเรื่อง แต่ต้องเป็นการแดงออกซึ่งแนวคิด เป็นการสร้างสรรค์โดยตน เป็นงานชนิดที่กฎหมายยอมรับ แสดงออกในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เช่น บทละคร บทความ รูปภาพ หรือแบบพิมพ์ เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกมาด้วยการพิมพ์ ออกอากาศ เทศนา คำปราศรัยด้วยเสียง ด้วยภาพ หรือด้วยวิธีอื่นๆ

     งานที่ได้รับการคุ้มครอง
          "งาน" ที่ได้รับการคุ้มครองนั้น คือ งานที่สร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนต์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่ภาพ หรืองานอื่นใด อันเป็นงานในแผนก วรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ โดยจำแนกงานสร้างสรรค์ ที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฉบับใหม่นี้ ออกเป็น 7 ประเภทดังนี้
     1. งานวรรณกรรม งานนิพนธ์ที่ทำขึ้นทุกชนิด เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ ปาฐกถา เทศนา คำปราศรัย สุนทรพจน์ และให้หมายความรวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย
         โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หมายความว่า คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใดที่นำไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานหรือเพื่อให้ได้รับผลอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในลักษณะใด
     2. งานนาฏกรรม หมายถึง งานที่เกี่ยวกับ การทำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดง ที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว และหมายความรวมถึงการแสดงโดยวิธีใบ้ด้วย
     3. งานศิลปกรรม หนมายถึง งานอันมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ดังต่อไปนี้
          (1) งานจิตรกรรม เช่น ภาพเขียน ภาพวาด
          (2) งานประติมากรรม เช่น ภาพแกะสลักรูปต่างๆ
          (3) งานภาพพิมพ์ เช่น งานภาพเขียนต่างๆ ที่ทำมาจากแม่พิมพ์
          (4) งานสถาปัตยกรรม ได้แก่ งานออกแบบอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง งานออกแบบ ตกแต่ง จำลอง
          (5) งานภาพถ่าย ที่ใช้กล้องถ่ายภาพหรือวิธีใดๆ ที่ทำให้เกิดภาพ
          (6) งานภาพประกอบ  แผนที่ โครงสร้าง ภาพร้าง รุปทรงสามมิติ เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์
          (7) งานศิลปประยุกต์ ได้แก่งานที่เอางานตามข้อ (1) - (6) ดัดแปลงมาใช้สอย นำไปตกแต่งเป็นเครื่องใช้ หรือนำไปใช้ประโยชน์
     4. งานดนตรีกรรม หมายถึง งานเกี่ยวกับเพลงที่แต่งขึ้น เพื่อบรรเลง หรือ ขับร้อง ไม่ว่าจะมีทำนองและคำร้องหรือมีทำนองอย่างเดียว รวมถึงหนังสือเพลง โน๊ตเพลง หรือแผนภูมิเพลง ที่แยกหรือเรียบเรียงเสียงประสานแล้ว
     5. งานโสตทัศนวัสดุ งานภาพยนต์ งานแพร่เสียงแพร่ภาพ
            งานโสตทัศนวัสดุ ได้แก่ เทปเพลง แผ่นเสียง วีดีโอเทป สไลด์ โทรทัศน์ หรือสิ่งที่สามารถบันทึกเสียงหรือภาพไว้ ที่สามารถนำมาเล่นซ้ำได้อีก
            งานภาพยนต์ ไม่ว่าจะมีเสียงประกอบหรือไม่ก็ตาม โดยบันทึกลงในวัสดุอย่างใดเพื่อนำออกมาฉายได้อย่างภาพยนต์
            งานแพร่เสียงแพร่ภาพ ได้แก่ งานที่นำออกไปสู่สาธารณชนโดยการแพร่เสียงทางวิทยุหรือแพร่ภาพทางโทรทัศน์
     6. งานสิ่งบันทึกเสียง หมายถึง งานอันประกอบด้วยลำดับของเสียงดนตร เสียงการแสดงหรือเสียงอื่นใด โดยบันทุกลงในวัสดุไม่ว่ามีสักษณะใด ซึ่งนำมาเล่นซ้ำได้อีก แต่ไม่รวมถึงเสียงประกอบภาพยนต์หรือเสียงประกอบโสตทัศนวัสดุอย่างอื่น
     7. งานนักแสดง หมายถึงผู้แสดง นักดนตรี นักร้อง นักเต้น นักรำ และผู้ซึ่งแสดง ท่าทาง ร้องกล่าว พากย์ แสดงตามบท หรือลักษณะอื่นใด

นิติกรรมคืออะไร

      ลักษณะของนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 149 หมายความว่า การใดๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมาย และด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ
     จากบทนิยาม มาตรา 149 อาจจำแนกลักษณะของนอตอกรรมได้ดังนี้
         1. ต้องมีการแสดงเจตนาของบุคคล
         2. ต้องประกอบด้วยใจสมัคร
         3. มุ่งให้มีผลผูกพันในทางกฎหมาย
         4. เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
         5. การกระทำนั้นเพื่อก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวในสิทธิ

     1. ต้องมีการแสดงเจตนาของบุคคล คือ ต้องมีการกระทำของบุคคลโดยการแสดงออกมาให้ปรากฏ ให้บุคคลภายนอก รับรู้เข้าใจในความต้องการของผู้แสดงเจตนา โดยจะแสดงออกมาให้ปรากฏในรูปใดก็ได้ไม่ว่าจะเป็น การแสดงเจตนาโดยชัดแจ้ง หรือ เจตนาโดยปริยาย หรือ การแสดงเจตนาโดยการนิ่ง

     2. การกระทำนั้นต้องประกอบด้วยใจสมัคร คือ การที่กระทำนิติกรรมต้องเป็นการแสดงเจตนาด้วยใจจริง และด้วยใจสมัคร โดยมีอิสระในการตัดสินใจ ปราศจากการข่มขู่ ล่อลวง ฉ้อฉล หรือหลอกลวงให้สำคัญผิดใดๆ หากการแสดงเจตนาดังกล่าวเป็นการสมัครใจแล้ว แม้จะตกลงให้ได้เปรียบแก่กันอย่างไรก็ถือว่าใช้ได้

     3. ต้องมุ่งให้มีผลผูกพันทางกฎหมาย คือ การแสดงเจตนาดังกล่าวต้องมีเจตนามุ่งผลในทางกฎหมาย โดยประสงค์ให้มีผลผูกพันกันระหว่างคู่สัญญา หากอีกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมปฏิบัติตาม แต่หากเป็นการแสดงเจตนาอื่นใดที่ไม่ได้มุ่งให้มีผลผูกพันทางกฎหมายดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องของนิติกรรม เช่น การที่พ่อแม่หลอกว่าจะซื้อของเล่นให้ โดยมีเจตนาเพื่อให้ลูกหยุดร้องไห้ ผลผูกพันในทางกฎหมายนี้ คือ การเคลื่อนไหวในสิทธิ 5 ประการ คือ การก่อสิทธิ เปลี่ยนแปลงสิทธิ โอนสิทธิ สงวนสิทธิ หรือการระงับสิทธิ เช่นการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือการทำสัญญาเช่าทรัพย์ ตลอดจนการบอกเลิกสัญญา หรือการปลดหนี้ซึ่งเป็นผลทำให้สิทธิตามสัญญาระงับลง เป็นต้น

     4. ต้องเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย คือ เป็นการกระทำที่ทำโดยถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไม่ให้กระทำไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัตถุประสงค์ของนิติกรรม หรือตามกฎหมายว่าด้วยความสามาถของบุคคล ตลอดจนแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ เป็นต้น

     5. ต้องเป็นการกระทำเพื่อมุ่งประสงค์ให้เกิดผลตามกฎหมาย ซึ่งรวมกันเรียกว่า "การเคลื่อนไหวในสิทธิ" โดยสิทธิจะแยกออกเป็น 2 ประเภท คือ
         1) บุคคลสิทธิ หมายถึง สิทธิเรียกร้องอันมีต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ มิใช่มีต่อบุคคลทั่วไป คือเป็นสิทธิเหนือบุคคล หรือหนี้เหนือบุคคล
         2) ทรัพย์สิทธิ หมายถึง สิทธิที่มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สิน หรือสิทธิที่อยู่เหนือทรัพย์สินและเป็นสิทธิที่จะเอาแก่ตัวทรัพย์สินได้โดยตรง
     
     จะเห็นว่าการทำนิติกรรมที่สมบูรณ์ตามกฎหมายจะต้องครบเงื่อนไขทั้ง 5 ประการ จึงจะมีผลบังคับใช้ได้ หากนิติกรรมใดทำไม่ถูกต้องตามกฎหมายกำหนดแล้ว จะส่งผลให้นิติกรรมนั้นไม่สมบูรณ์หรืออาจตกเป็นโมฆะตามกฎหมายได้

กฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญาแตกต่างกันอย่างไร

กฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญา มีความแตกต่างกันในสาสำคัญดังต่อไปนี้
     1. แตกต่างกันด้วยลักษณะแห่งกฎหมาย กฎหมายแพ่งเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยสิทธิ์ หน้าที และความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชน ส่วนกฎหมายอาญา เป็นกฎหทายที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชน
     2. แตกต่างกันด้วยวัตถุประสงค์ของกฎหมาย กฎหมายแพ่งมีวัตถุประสงค์ในอันที่จะอำนวยและรักษาไว้ซึ่งความยุติธรรมในความสัมพันะ์ระหว่าเอกชนกับเอกชนด้วยกัน ส่วนกฎหมายอาญานั้นมีเจตนารมย์ในทางรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองมุ่งประสงค์คุ้มครองให้ความปลอดภัยแก่สังคม
     3. แตกต่างกันด้วยการตีความ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 บัญญัติว่า การตีความกฎหมายย่อมต้องตีความตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติแห่งกฎหมายถ้าไม่มีบทกฎหมายที่จะยกขึ้นปรับแก้คดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีท้องถิ่น ส่วนในกฎหมายอาญานั้นจะตีความอย่างกฎหมายแพ่งไม่ได้ หากแต่ต้องตีความโดยเคร่งครัดจะถือว่าบุคคลใดมีความผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด ต้องตีความตามตัวอักษรที่ปรกฎในบทบัญญัติของกฎหมายนั้นๆ โดยตรงจะมีการขยายความในบทบัญญัติแห่งกฎหมายออกไปให้ครอบคลุมไปถึงการกระทำอื่นๆ อันใกล้เคียงกับการกระทำที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิดมิได้
    4. แตกต่างกันด้วยสภาพบังคับ ในกฎหมายแพ่งนั้น มีสภาพบังคับประเภทหนึ่ง คือ ถ้าหากมีการล่วงละเมิดกฎหมายแพ่ง บุคคลผู้ร่วงละเมิดไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล ก็อาจะถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาดเอาเงินที่ขายได้มาชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาล มิฉะนั้นอาจถูกกักขังจนกว่าจะทำตามคำพิพากษาของศาลได้ ส่วนในกฎหมายอาญานั้นมีสภาพบังคับประเภทหนึ่ง คือ โทษทางอาญาซึ่งกฎหมายได้บัญญัติไว้สำหรับความผิด ซึ่งโทษดังกล่าวมีอยู่ 5 สถานด้วยกัน คือ ประหาร จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์

ความแตกต่างในความผิดของกฎหมายทางอาญาและความผิดทางแพ่ง


     1. ความผิดทางอาญาเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหาย หวาดหวั่นแก่บุคคลทั่วไป ความผิดทางอาญาส่วนใหญ่จึงเป็นความผิดต่อแผ่นดินหรือประชาชน ส่วนความผิดทางแพ่งเป็นเรื่องระหว่างเอกชนต่อเอกชนด้วยกัน ไม่มีผลเสียหายต่อสังคมแต่อย่างใด

     2. กฎหมายอาญามีวัตถุประสงค์ลงโทษผู้กระทำผิดหากผู้กระทำผิดตายลงการลงโทษก็เป็นอันระงับลงไป ส่วนความผิดทางแพ่งเป็นเรื่องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย หากผู้กระทำผิดตายลงต้องมีการเรียกร้องจากกองมรดกของผู้กระทำความผิด ยกเว้นหนี้เฉพาะตัว

     3. ความผิดทางอาญาถือเจตนาเป็นใหญ่ในการกำหนดโทษ เมื่อกระทำโดยเจตนา หากทำโดยประมาทต้องดูว่ากฎหมายบัญญัติให้รับผิดชอบหรือไม่ในกรณีต่างๆ ส่วนความผิดทางแพ่งนั้นต้องรับผิดชอบทุกกรณีไม่ว่าจะเจตนาหรือประมาทก็ตาม

     4. กฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด มีความผิด มีโทษที่รุนแรง ส่วนกฎหมายแพ่ง ต้องตีความตามตัวอักษรหรือเจตนารมณ์ของบัญญัติของกฎหมายนั้นๆ ดังนั้น การที่เป็นความผิดทางแพ่งนั้น ศาลอาจตีความขยายได้

     5. ความผิดทางอาญานั้น โทษจะลงแก่ตัวผู้กระทำผิด ส่วนทางกฎหมายแพ่งนั้นไม่มีโทษ เพียงถูกบังคับให้ชำระหนี้หรือชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

     6. ความผิดทางอาญาส่วนใหญ่ยอมความไม่ได้ ความผิดที่ยอมความได้เช่น หมิ่นประมาท ยักยอก เป็นต้น ส่วนความผิดทางแพ่ง ผู้เสียหายอาจยกเว้นความรับผิดได้โดยไม่นำคดีขึ้นฟ้องต่อศาล

     7. ความผิดในทางอาญา บุคคลที่ร่วมกระทำผิดอาจมีความผิดมากน้อยต่างกันตามลักษณะของการเข้าร่วม ส่วนความผิดทางแพ่ง ผู้ร่วมก่อหนี้ ร่วมกันทำละเมิด ตลอดทั้งยุยงหรือช่วยเหลือ ต้องร่วมรับผิดและชดให้ความเสียหายเหมือนกันหมด

     8. ความรับผิดทางอาญา กางลงโทษผู้กระทำผิดเพื่อบำบัดความเสียหายต่อส่วนร่วม ส่วนความรับผิดทางแพ่งต้องบำบัดความเสียหายแก่เอกชนคนหนึ่งคนใดโดยเฉพาะ

ระบบและหมวดหมู่กฎหมาย

ระบบกฎหมายที่สำคัญมี 2 ระบบคือ
     1. ระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ (Common Law) มีวิวัฒนาการมาจากประเทศอังกฤษและแพร่หลายในประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เช่น ออสเตรเลีย ฮ่องกง สิงคโปร์ และแคนนาดา เป็นกฎหมายที่ใช้ใการตัดสินคดีจากแนวบรรทัดฐานของคำตัดสินจากผู้พิพากษาได้ตัดสินไว้ กฎหมายจะถูกตราและบังคับใช้โดยรัฐสภาควบคู่ไปกับกฎหมายคอมมอนลอว์ที่เคยวางบรรทัดฐานเอาไว้ รายละเอียดเพิ่มเติม
     2. ระบบกฎหมายซีวิลลอว์ (Civil Law) มีวิวัฒนาการมาจากฎหมายโรมัน ที่นักปราชญ์ชาวโรมันรวบรวมเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร เรียกว่ากฎหมายสิงสองโต๊ะ ซึ่งบัญญัติถึงกฎเกณฑ์ที่ควบคุมความประพฤติของสังคม ในสมัยพระเจ้าจัสติเนียน ได้ให้เป็นกฎเกณฑ์ทั่วไป เรียกว่า คอร์ปัส จุริส ซิวิลิส
        กฎหมายซีวิลลอว์ (Civil Law) แพร่หลายในประเทศในภาคพื้นยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน ประเทศไทย ฯลฯ รายละเอียดเพิ่มเติม

ระบบกฎหมายซีวิลลอว์ (Civil Law) มีวิวัฒนาการมาจากฎหมายโรมัน ที่นักปราชญ์ชาวโรมันรวบรวมเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร

หมวดหมู่ของกฎหมาย แบ่งออกเป้น 4 หมวดดังนี้
     1. กฎหมายภายในและกฎหมานระหว่างประเทศ
         1) กฎหมายภายใน เป็นกฎหมายที่บังคับใช้ภายในประเทศ เช่น กฎหมายเอกชน กฎหมายแ่พ่ง เป็นต้น
         2) กฎหมายระหว่างประเทศ บัญญัติขึ้นโดยงองค์กรระหว่างประเทศ ระหว่างรัฐต่อรัฐ จำแนกตามความสัมพันธ์ได้ดังนี้
             - กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีการเมือง
             - กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล
             - กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา
     2. กฎหมายมหาชนและกฎหมายเอกชน (จำแนกโดยถือฐานะและความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน)
         1) กฎหมายมหาชน กำหนดความสัมพันธ์ของรัฐในฐานะที่เป็นผู้ปกครองและประชาชนผู้ใต้ปกครอง เช่นกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง
         2) กฎหมายเอกชน กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชน อย่างเท่าเทียมกัน
     3. กฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎหมายอาญา
         1) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชน ในเรื่อง บุคคล หนี้ ทรัพย์สิน ครอบครัวและมรดก สภาพบังคับเป็นการพ้องหรือร้องขอต่อศาลเพื่อรับรองสิทธิ์หรือบังคับให้เป็นไปตามสิทธิ์
         2) กฎหมายอาญา จะกำหนดการกระทำผิดและบทลงโทษ สภาพบังคับมี 5 ประการ คือ ประหาร จำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์ ดังนั้นการกระทำผิดทางอาญาจึงเป็นการฟ้องเพื่อให้รัฐลงโทษ กฎหมายอาญาจึงประกอบไปด้วยส่วนที่บัญญัติถถึงความผิด และส่วนที่บัญญัติถึงโทษด้วย


     4. กฎหมายสาระบัญญัติและกฎหมายวิธีสบัญญัติ
         1) กฎหมายสาระบัญญัติ บัญญัติถึงเนื้อหาของสิทธิ์ หน้าที่ ข้อห้ามต่างๆ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ควบคุมความประพฤติของคนในสังคม
         2) กฎหมายวิธีสบัญญัติ บัญญัติถึงวิธีพิจรณาความ กระบวนการยุติข้อพิพาท หรือบังคับให้เป็นไปตามสิทธิ์ หน้าที่
     การแยกกฎหทายตามหมวดหมุ่ดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในการใช้กฎหมายทั้งสองต้องใช้ให้สอดคล้องกันและกัน

วิวัฒนาการและจุดกำเนิดของกฎหมาย

วิวัฒนาการของกฎหมาย หรือ ความเป็นมาของกฎหมาย จะแบ่งออกเป็น 3 ยุคด้วยกัน คือ
     1. ยุคกฎหมายชาวบ้าน กฎหมายยุคชาวบ้านเป็นกฎหมายที่มีหลักเกณฑ์เพื่อควบคุมความประพฤติในรูปของขนบธรรมเนียมประเพณี ใช้เหตุผลและหลักการธรรมดาที่ชาวบ้านรู้ได้ว่าคือ กฎหมาย เช่น ขนบธรรมเนียมในวันสงกรานต์ ขนบธรรมเนียมการแต่งตัวในวันสำคัญ ขนบธรรมเนียมการแต่งงาน เป็นต้น และในยุคนี้ยังไม่มีนักกฎหมาย
     2. ยุคกฎหมายของนักกฎหมาย สังคมมีการพัฒนาที่ซับซ้อนขึ้น ทำให้ใช้กฎหมายชาวบ้านในการตัดสินการกระทำบางอย่างที่เกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้นต้องพึ่งนักกฎหมายที่จะต้องคิดกฎเกณฑ์เพิ้มเติม สำหรับเป็นเหตุผลในการวินิจฉัยชี้ขาด
     3. ยุคกฎหมายเทคนิค เป็นยุคที่กฎหมายเกิดขึ้นโดยกระบวนการนิติบัญญัติ

กฎหมายชาวบ้าน-การแต่งงานต้องมีสินสอดทองหมั้น
ยุคกฎหมายชาวบ้าน - การแต่งงานจะต้องมีสินสอดทองหมั้น
จุดกำเนิดของกฎหมาย
     กฎหมายลายลักษณ์อักษร จารีตประเพณี หลักกฎหมายทั่วไป และคำพิพากษาของศาล ทั้งหมดเป็นบ่อเกิดของกฎหมาย โดยบ่อเกิดของกฎหมายของแต่ละประเทศจะแตกต่างกันออกไป
     1.กฎหมายลายลักษณ์อักษร เป็นบ่อเกิดที่สำคัญที่สุดของกฎหมายไทย แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
          1) กฎหมายแท้ เกิดจากการบัญญัติของฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น พระราชบัญญัติ ประมวลกฎหมาย
          2) กฎหมายบริหารบัญญัติ  บัญญัติโดยฝ่ายบริหาร เช่น พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา
          3) กฎหมายองค์กรบัญญัติ บัญญัติโดยองค์กรมหาชนที่มีอิสระในการปกครอง เช่น เทศบาล สุขาภิบาล
     2. กฎหมายประเพณี เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นกฎหมายที่ปรากฏขึ้นในรูปจารีตประเพณี มีลักษณะสำคัญดังนี้
         1) เป็นจารีตประเพณีที่ใช้ปฏิบัติกันมานาน สม่ำเสมอ
         2) รู้สึกว่าจารีตประเพณีนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องและต้องปฏิบัติตาม
     3. หลักกฎหมายทั่วไป ที่มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรค 2 โดยหลักกฎหมายทั่วไปนั้นจะเป็นบ่อเกิดของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะนำมาใช้ในกฎหมายอาญาไม่ได้
     4. คำพิพากษาของศาลที่เป็นบรรทัดฐาน ถือว่าคำพิพากษาของศาลเป็นบ่อเกิดของกฎหมาย ตามหลักกฎหมายคอมมอนลอว์ของอังกฤษ

     กฎหมายลายลักษณ์อักษรประเภทต่างๆ เกิดจากการบัญญัติกฎหมายขององค์กรผู้มีอำนาจ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามอำนาจการบัญญัติคือ
     1. กฎหมายนิติบัญญัติ ตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติ(รัฐสภา) เช่น พระราชบัญญัติต่างๆ (พรบ.)
     2. กฎหมายบริหารบัญญัติ ตราขึ้นโดยฝ่ายบริหาร ถือเป็นกฎหมายยกเว้นเนื่องจากฝ่ายบริหารไม่มีหน้าที่ออกกฎหมาย เช่น
         1) พระราชกำหนด ที่พระมหากษัตริย์ตราขึ้นตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ พระราชกำหนดทั่วไป และพระราชกำหนดเฉพาะ
         2) กฎหมายลำดับรอง ได้แก่ พระราชกฤษฏีกา กฎหมายระหว่างกระทรวง ฯลฯ
     3. กฎหมายองค์การบัญญัติ องค์การมหาชนที่มีอำนาจอิสระในการปกครองตนเองเป็นผู้ออกกฎหมาย เช่น ข้อบัญญัติกรุงเทพฯ ออกโดยกรุงเทพฯ เป็นต้น

กฎหมายคืออะไร มีลักษณะอย่างไร?

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
 
     คำว่า กฎหมาย ที่ทุกคนต้องรู้จัก หมายถึง คำสั่งหรือข้อบังคับความประพฤติของมนุษย์ ซึ่งผู้มีอำนาจสูงสุด หรือรัฐาธิปัตย์เป็นผู้บัญญัติขึ้น ผู้ใดฝ่าฝืนมีสภาพบังคับ หรืออาจหมายถึง ระเบียบ ข้อบังคับ ที่บัญญัติไว้โดยผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ เพื่อใช้บังคับความประพฤติของประชาชน ทำให้เกิดความสงบสุขในสังคม หากใครฝ่าฝืนต้องได้รับผลตามที่กฎหมายกำหนดไว้
 
กฎหมายจะแยกออกเป็น 2 ประเภท คือ
         1. กฎหมายตามเนื้อความ เป็นแบบแผนและมีกระบวนการบังคับที่เป็นกิจลักษณะ
         2. กฎหมายตามแบบพิธี เป็นกฎหมายที่จัดทำโดยออกบัญญัติกฎหมาย
 
ลักษณะของกฎหมายจะมี 5 ประการดังนี้
         1. กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับ ที่อยู่ในรูบของคำสั่ง คำบัญชา ที่แสดงถึงความประสงค์ของผู้มีอำนาจในลักษณะที่บังคับ เพื่อให้บุคคลปฏิบัตหรืองดเว้น
         2. กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่มาจากรัฐาธิปัตย์ (รัฐาธิปัตย์ คือ ผู้ที่ประชาชนส่วนมากยอมรับนับถือว่าเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน)
         3. กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้ได้ทั่วไป ไม่ใช่กำหนดขึ้นพื่อประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
         4. กฎหมายบัญญัติขึ้นเพื่อให้บุคคลปฎิบัติตาม
         5. กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ สภาพบังคับในทางอาญาทั่วไปแล้ว คล้ายคลึงกันคือ หากเป็นโทษสูงสุดประหารชีวิต จากนั้นคือการจำคุก สภาพบังคับในทางแพ่ง เช่น การกำหนดให้การกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายเป็นโมฆะ