นิติกรรมคืออะไร

      ลักษณะของนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 149 หมายความว่า การใดๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมาย และด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ
     จากบทนิยาม มาตรา 149 อาจจำแนกลักษณะของนอตอกรรมได้ดังนี้
         1. ต้องมีการแสดงเจตนาของบุคคล
         2. ต้องประกอบด้วยใจสมัคร
         3. มุ่งให้มีผลผูกพันในทางกฎหมาย
         4. เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
         5. การกระทำนั้นเพื่อก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวในสิทธิ

     1. ต้องมีการแสดงเจตนาของบุคคล คือ ต้องมีการกระทำของบุคคลโดยการแสดงออกมาให้ปรากฏ ให้บุคคลภายนอก รับรู้เข้าใจในความต้องการของผู้แสดงเจตนา โดยจะแสดงออกมาให้ปรากฏในรูปใดก็ได้ไม่ว่าจะเป็น การแสดงเจตนาโดยชัดแจ้ง หรือ เจตนาโดยปริยาย หรือ การแสดงเจตนาโดยการนิ่ง

     2. การกระทำนั้นต้องประกอบด้วยใจสมัคร คือ การที่กระทำนิติกรรมต้องเป็นการแสดงเจตนาด้วยใจจริง และด้วยใจสมัคร โดยมีอิสระในการตัดสินใจ ปราศจากการข่มขู่ ล่อลวง ฉ้อฉล หรือหลอกลวงให้สำคัญผิดใดๆ หากการแสดงเจตนาดังกล่าวเป็นการสมัครใจแล้ว แม้จะตกลงให้ได้เปรียบแก่กันอย่างไรก็ถือว่าใช้ได้

     3. ต้องมุ่งให้มีผลผูกพันทางกฎหมาย คือ การแสดงเจตนาดังกล่าวต้องมีเจตนามุ่งผลในทางกฎหมาย โดยประสงค์ให้มีผลผูกพันกันระหว่างคู่สัญญา หากอีกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมปฏิบัติตาม แต่หากเป็นการแสดงเจตนาอื่นใดที่ไม่ได้มุ่งให้มีผลผูกพันทางกฎหมายดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องของนิติกรรม เช่น การที่พ่อแม่หลอกว่าจะซื้อของเล่นให้ โดยมีเจตนาเพื่อให้ลูกหยุดร้องไห้ ผลผูกพันในทางกฎหมายนี้ คือ การเคลื่อนไหวในสิทธิ 5 ประการ คือ การก่อสิทธิ เปลี่ยนแปลงสิทธิ โอนสิทธิ สงวนสิทธิ หรือการระงับสิทธิ เช่นการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือการทำสัญญาเช่าทรัพย์ ตลอดจนการบอกเลิกสัญญา หรือการปลดหนี้ซึ่งเป็นผลทำให้สิทธิตามสัญญาระงับลง เป็นต้น

     4. ต้องเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย คือ เป็นการกระทำที่ทำโดยถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไม่ให้กระทำไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัตถุประสงค์ของนิติกรรม หรือตามกฎหมายว่าด้วยความสามาถของบุคคล ตลอดจนแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ เป็นต้น

     5. ต้องเป็นการกระทำเพื่อมุ่งประสงค์ให้เกิดผลตามกฎหมาย ซึ่งรวมกันเรียกว่า "การเคลื่อนไหวในสิทธิ" โดยสิทธิจะแยกออกเป็น 2 ประเภท คือ
         1) บุคคลสิทธิ หมายถึง สิทธิเรียกร้องอันมีต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ มิใช่มีต่อบุคคลทั่วไป คือเป็นสิทธิเหนือบุคคล หรือหนี้เหนือบุคคล
         2) ทรัพย์สิทธิ หมายถึง สิทธิที่มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สิน หรือสิทธิที่อยู่เหนือทรัพย์สินและเป็นสิทธิที่จะเอาแก่ตัวทรัพย์สินได้โดยตรง
     
     จะเห็นว่าการทำนิติกรรมที่สมบูรณ์ตามกฎหมายจะต้องครบเงื่อนไขทั้ง 5 ประการ จึงจะมีผลบังคับใช้ได้ หากนิติกรรมใดทำไม่ถูกต้องตามกฎหมายกำหนดแล้ว จะส่งผลให้นิติกรรมนั้นไม่สมบูรณ์หรืออาจตกเป็นโมฆะตามกฎหมายได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น