ลิขสิทธิ์คืออะไร

     ก่อนที่เราจะมาพูดถึงเรื่องของลิขสิทธิ์ เรามารู้จักกับหัวข้อใหญ่ก็คือ ทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากวัตถุที่เป็นรูปร่างอันเป็นทรัพย์ซึ่งบุคคลถือเอาเป็นกรรมสิทธิ์ได้แล้ว บุคคลยังมีสิทธิ์ในวัตถุไม่มีรูปร่างที่กฎหมายยอมรับและคุ้มครองให้อีกด้วย ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง ที่เรียกกันว่า "ทรัพย์สินทางปัญญา" ได้แก่ กรณีที่กฎหมายคุ้มครองสิทธิในการสร้างสรรค์การประดิษฐ์หรือคิดค้นสิ่งใหม่ๆ มี 3 ประเภท คือ 1. ลิขสิทธิ์ 2. สิทธิบัตร 3. เครื่องหมายการค้า
ตัวอย่างหนังสือรับรองลิขสิทธิ์
ตัวอย่างหนังสือรับรองลิขสิทธิ์ของประเทศไทย

     ลิขสิทธิ์ (Copyright) หมายถึง สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะกระทำการใดๆ เกี่ยวกับงาน ที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น
     กฎหมายลิขสิทธิมุ่งคุ้มครองงานที่บุคคลได้สร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยตนเอง ไม่ให้ใครลอก หรือเลียนแบบ เอาไว้ใช้ประโยชน์ เพื่อให้ผู้สร้างสรรค์งาน ได้แก่ ผู้ทำ หรือผู้ก่อให้เกิดงาน โดยความริเริ่มของตนเองได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ในงานสร้างสรรค์ของตน และให้ผู้อื่นเคารพในสิทธิของผู้สร้างสรรค์นั้น
     งานสร้างสรรค์ที่ได้รับการคุ้มครองนี้ จะต้องไม่ใช่เป็นเพียงแค่ความคิด แนวคิด หรือแนวเรื่อง แต่ต้องเป็นการแดงออกซึ่งแนวคิด เป็นการสร้างสรรค์โดยตน เป็นงานชนิดที่กฎหมายยอมรับ แสดงออกในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เช่น บทละคร บทความ รูปภาพ หรือแบบพิมพ์ เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกมาด้วยการพิมพ์ ออกอากาศ เทศนา คำปราศรัยด้วยเสียง ด้วยภาพ หรือด้วยวิธีอื่นๆ

     งานที่ได้รับการคุ้มครอง
          "งาน" ที่ได้รับการคุ้มครองนั้น คือ งานที่สร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนต์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่ภาพ หรืองานอื่นใด อันเป็นงานในแผนก วรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ โดยจำแนกงานสร้างสรรค์ ที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฉบับใหม่นี้ ออกเป็น 7 ประเภทดังนี้
     1. งานวรรณกรรม งานนิพนธ์ที่ทำขึ้นทุกชนิด เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ ปาฐกถา เทศนา คำปราศรัย สุนทรพจน์ และให้หมายความรวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย
         โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หมายความว่า คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใดที่นำไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานหรือเพื่อให้ได้รับผลอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในลักษณะใด
     2. งานนาฏกรรม หมายถึง งานที่เกี่ยวกับ การทำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดง ที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว และหมายความรวมถึงการแสดงโดยวิธีใบ้ด้วย
     3. งานศิลปกรรม หนมายถึง งานอันมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ดังต่อไปนี้
          (1) งานจิตรกรรม เช่น ภาพเขียน ภาพวาด
          (2) งานประติมากรรม เช่น ภาพแกะสลักรูปต่างๆ
          (3) งานภาพพิมพ์ เช่น งานภาพเขียนต่างๆ ที่ทำมาจากแม่พิมพ์
          (4) งานสถาปัตยกรรม ได้แก่ งานออกแบบอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง งานออกแบบ ตกแต่ง จำลอง
          (5) งานภาพถ่าย ที่ใช้กล้องถ่ายภาพหรือวิธีใดๆ ที่ทำให้เกิดภาพ
          (6) งานภาพประกอบ  แผนที่ โครงสร้าง ภาพร้าง รุปทรงสามมิติ เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์
          (7) งานศิลปประยุกต์ ได้แก่งานที่เอางานตามข้อ (1) - (6) ดัดแปลงมาใช้สอย นำไปตกแต่งเป็นเครื่องใช้ หรือนำไปใช้ประโยชน์
     4. งานดนตรีกรรม หมายถึง งานเกี่ยวกับเพลงที่แต่งขึ้น เพื่อบรรเลง หรือ ขับร้อง ไม่ว่าจะมีทำนองและคำร้องหรือมีทำนองอย่างเดียว รวมถึงหนังสือเพลง โน๊ตเพลง หรือแผนภูมิเพลง ที่แยกหรือเรียบเรียงเสียงประสานแล้ว
     5. งานโสตทัศนวัสดุ งานภาพยนต์ งานแพร่เสียงแพร่ภาพ
            งานโสตทัศนวัสดุ ได้แก่ เทปเพลง แผ่นเสียง วีดีโอเทป สไลด์ โทรทัศน์ หรือสิ่งที่สามารถบันทึกเสียงหรือภาพไว้ ที่สามารถนำมาเล่นซ้ำได้อีก
            งานภาพยนต์ ไม่ว่าจะมีเสียงประกอบหรือไม่ก็ตาม โดยบันทึกลงในวัสดุอย่างใดเพื่อนำออกมาฉายได้อย่างภาพยนต์
            งานแพร่เสียงแพร่ภาพ ได้แก่ งานที่นำออกไปสู่สาธารณชนโดยการแพร่เสียงทางวิทยุหรือแพร่ภาพทางโทรทัศน์
     6. งานสิ่งบันทึกเสียง หมายถึง งานอันประกอบด้วยลำดับของเสียงดนตร เสียงการแสดงหรือเสียงอื่นใด โดยบันทุกลงในวัสดุไม่ว่ามีสักษณะใด ซึ่งนำมาเล่นซ้ำได้อีก แต่ไม่รวมถึงเสียงประกอบภาพยนต์หรือเสียงประกอบโสตทัศนวัสดุอย่างอื่น
     7. งานนักแสดง หมายถึงผู้แสดง นักดนตรี นักร้อง นักเต้น นักรำ และผู้ซึ่งแสดง ท่าทาง ร้องกล่าว พากย์ แสดงตามบท หรือลักษณะอื่นใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น