ความหมายและลักษณะของยืม

     ยืม คือสัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 9 ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภท คือ ยืมใช้คงรูปและยืมใช้สิ้นเปลือง โดยดูจากทรัพย์ว่าเป็นประเภทสิ้นเปลือง เช่น น้ำ ข้าว หรือเป็นประเภทคงรูป เช่น รถยนต์ กระเป๋า เป็นต้น

ยืมใช้คงรูปและยืมใช้สิ้นเปลือง

     ดังนั้น ยืม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ได้ให้คำนิยามไว้โดยตรง แต่ได้บัญญัติเฉพาะคำนิยามของ "ยืมใช้คงรูป" และคำนิยามของ "ยืมใช้สิ้นเปลือง" ไว้เท่านั้น เนื่องจากยืมเป็นสัญญาชนิดหนึ่ง ลักษณะของยืมจึงมีสาระสำคัญดังนี้
     1. ยืมเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเรียกว่า "ผู้ยืม" อีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า "ผู้ให้ยืม" โดยการที่จะเป้นสัญญายืมได้ จะต้องเป็นเรื่องที่คู่กรณี แสดงเจตนาโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์กัน
     2. คู่สัญญาต้องมีความสามารถตามกฎหมาย กล่าวคือ ไม่เป้นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ มิฉะนั้นสัญญาจะเป็นโมฆียะ
     3. วัตถุประสงค์ของสัญญายืมต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือไม่เป็นการพ้นวิสัย มิฉะนั้นย่อมตกเป็นโมฆะได้ เช่น นายทองมาขอกู้เงินนายดี โดยนายทองจะนำเงินไปลงทุนค้าฝิ่น โดยนายดีได้ให้นายทองกู้เงิน เป็นการอุปการะผู้กระทำความผิด ซึ่งการอุปการะนี้ต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมาย ดังนั้นวัตถุประสงค์แห่งการยืมจึงตกเป็นโมฆะ
     4. ผู้ให้ยืมจะต้องส่งมอบทรัพย์สินให้ผู้ยืมได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งแยกพิจารณ่ได้ดังนี้
          4.1 ถ้าเป็นการยืมใช้คงรูป ผู้ให้ยืมต้องให้ผู้ยืมได้ใช้ทรัพย์สินที่ยืม โดยไม่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้ผู้ยืม
          4.2 ถ้าเป็นการยืมใช้สิ้นเปลือง ผู้ให้ยืมต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ให้แก่ผู้ยืม ในการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่ยืม
     5. เมื่อได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่ยืมเสร็จแล้ว ผู้ยืมต้องคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้ให้ยืม โดยแยกพิจารณาดังนี้ คือ
          5.1 ถ้าเป็นการยืมใช้คงรูป ผู้ยืมต้องคืนทรัพย์สินที่ยืมนั้น
          5.2 ถ้าเป็นการยืมใช้สิ้นเปลือง ผู้ยืมต้องคืนทรัพย์สินที่ มีประเภท ชนิด และปริมาณเดียวกัน แทนทรัพย์สินที่ให้ยืมนั้น

1 ความคิดเห็น: