ความหมายและลักษณะของสัญญาจ้างแรงงาน

     ในส่วนของสัญญาจ้างแรงงานและจ้างทำของนั้น จะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันและมีความแตกต่างกันบ้างบางประการ โดยการจ้างบุคคลอื่นให้มาทำงานให้ในสัญญาจ้างแรงงานไม่ได้มุ่งถึงผลสำเร็จของงานเป็นหลัก โดยที่สัญญาจ้างทำของ ผู้ว่าจ้างจะใช้แรงงานหรือทรัพยากรอื่นใดก็ได้ โดยมุ่งถึงผลสำเร็จของงานเป็นหลัก

สัญญาจ้างแรางาน นายจ้าง และลูกจ้าง

ความหมายของสัญญาจ้างแรงงาน
     สัญญาจ้างแรงงาน คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า "ลูกจ้าง" ตกลงทำงานให้แก่บุคคลหนึ่งเรียกว่า "นายจ้าง"โดยนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างแก่ลูกจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้

ลักษณะของสัญญาจ้างแรงงานที่สำคัญ คือ
     1.สัญญาจ้างแรงงานเป็นเอกเทศสัญญาอย่างหนึ่ง คือ เป็นนิติกรรมสองฝ่ายระหว่างฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้างที่มีการบัญญัติไว้ในเอกเทศสัญญาในลักษณะจ้างแรงงาน จ้างทำของ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
     2. สัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ก่อให้เกิดหนี้แก่คู่กรณีทั้งสองฝ่าย โดยฝ่ายลูกจ้างมีหนี้ที่ต้องทำงานให้แก่นายจ้าง และนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายสินจ้างให้แก้ลูกจ้างตลอดเวลาที่ทำงาน ซึ่งผลตามกฎหมายหากคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายย่อมมีสิทธิที่จะไม่ชำระหนี้เช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามการจ้างแรงงานส่วนใหญ่จะใช้กฎหมายเกี่ยวกับแรงงานที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะ
     3. สัญญาจ้างแรงงานไม่มีแบบหรือหลักฐานเป็นหนังสือ คือ กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องทำตามแบบหรือทำเป็นหนังสือ ฉะนั้นเพียงแต่เจตาของทั้งสองฝ่ายตรงกัน ก็ถือว่าสัญญาจ้างแรงงานเกิดขึ้นแล้ว
     4. สัญญาจ้างแรงงานมีสาระสำคัญอยู่ที่ตัวของคู่สัญญา คือ คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจะโอนสิทธิ และหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานให้ผู้อื่นไม่ได้ นอกจากอีกฝ่ายหนึ่งจะยินยอม ในกรณีที่ลูกจ้างตายลง สัญญาจ้างแรงงานย่อมระงับ ทายาทจะสวมสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาไม่ได้ แต่สำหรับกรณีนายจ้างนั้น หากสัญญาจ้างแรงงานมีสาระสำคัญอยู่ที่ตัวบุคคล ผู้เป็นนายจ้าง สัญญาจ้างก็จะถูกระงับไปเชานกัน
        สัญญาจ้างแรงงานอาจเป็นความตกลงในการทำงานที่ต้องใช้สติปัญญา นอกเหนือจากแรงงานก็ได้ สินจ้างในสัญญาแรงงานอาจเป็นทรัพย์สินอื่น โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเงินเท่านั้น และลูกจ้างที่กล่าวมานี้ ไม่ได้หมายรวมถึง ข้าราชการ และลูกจ้างของกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะมีกฎหมายที่บัญญัติไว้เป็นพิเศษ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น